จีนใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและปกป้องนกอพยพ

(People's Daily Online)วันพุธ 15 มกราคม 2025

ตั้งแต่เทคโนโลยีเอไอไปจนถึงโดรนและการจำลองอัลกอริทึม ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วจีนได้ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าในการเฝ้าสำรวจ และปกป้องนกอพยพและที่อยู่อาศัยของพวกมันโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว

ที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติทะเลสาบโผหยาง (Poyang Lake) ในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกของจีน สมาชิกได้เริ่มกระบวนการคู่ที่ผสมผสานความชำนาญของมนุษย์กับอุปกรณ์เทคโนโลยีไฮเทคสำหรับการเฝ้าสำรวจนก

ในเดือนธันวาคม 2566 อุทยานฯ ได้เริ่มใช้แพลตฟอร์มจัดการอัจฉริยะโดยมีกล้องที่มีความละเอียดระดับสูงและเซนเซอร์ที่ทำงานตลอดเวลา และเทคโนโลยีเอไอเพื่อระบุและบันทึกพันธุ์นก ขณะที่สามารถคำนวนความหนาแน่นและจำนวนของฝูงนกได้อย่างอัตโนมัติ

หวาง เสี่ยวหลง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่สถานีอนุรักษ์อู๋เฉิงขององค์การบริหารเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติทะเลสาบโผหยางกล่าวว่า “ในอดีต เราจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณทะเลสาบเพื่อสังเกตและตรวจตรานกในพื้นที่ซึ่งใช้เวลาและความแม่นยำน้อยกว่า”

หยวน จื้อฉี เจ้าหน้าที่ของสถานีอนุรักษ์อู๋เฉิง กล่าวว่า ผู้ควบคุมสามารถใช้โดรนเพื่อติดตามพื้นที่คุ้มครองได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ โดยกำหนดเส้นทางการบินล่วงหน้าและป้อนเข้าสู่ระบบตรวจสอบโดรน โดรนช่วยให้สามารถตรวจสอบพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ได้ เช่น หนองบึงและโคลน และสามารถส่งคำเตือนเพื่อยับยั้งกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อนกหรือทำลายทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำได้

เพื่อลดการรบกวนนก โดรนมักจะบินที่ระดับความสูงเกิน 100 เมตร กล้องที่มีความแม่นยำสูงจะติดตามทั้งการเคลื่อนไหวของนกและกิจกรรมของมนุษย์ในขณะที่รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยโดยไม่รบกวนนก

นอกจากนี้ ระบบการจัดการอัจฉริยะยังช่วยปรับระดับน้ำในทะเลสาบให้เหมาะสมด้วยการจำลองที่ซับซ้อน โดยการวิเคราะห์สภาพอากาศในปัจจุบัน ปริมาณน้ำ และประชากรนกอพยพ ระบบสามารถคาดการณ์ความพร้อมของอาหารสำหรับนกที่อพยพในช่วงฤดูหนาว และปรับระดับน้ำตามความเหมาะสมผ่านประตูระบายน้ำ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อนกอพยพ

เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกันในเขตอนุรักษ์ธรรมชาตินกและป่าพื้นที่ชุ่มน้ำหนานต้ากั่งในเมืองชางโจว มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของจีน ซึ่งได้รับการเพิ่มเข้าในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก UNESCO ในเดือนกรกฎาคม 2567 ในฐานะส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์นกอพยพตามแนวชายฝั่งทะเลเหลือง-อ่าวปั๋วไห่ของจีน (ระยะที่ 2)

ตามที่จาง จิงซิ่ง เจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์กล่าว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขตอนุรักษ์ได้จัดตั้งแพลตฟอร์มติดตามทางวิทยาศาสตร์แบบบูรณาการพร้อมระบบจดจำเสียงที่ใช้เทคโนโลยีเอไอ นอกจากนี้ เรือติดตามที่ไม่มีคนควบคุมและมีอุปกรณ์พิเศษในหนองน้ำกกถูกนำมาใช้เพื่อติดตามนก และมีการอัปโหลดข้อมูลเสียงแบบเรียลไทม์ไปยังแพลตฟอร์ม ซึ่งสามารถระบุสายพันธุ์ของนกได้โดยอัตโนมัติ

ฐานข้อมูลของแพลตฟอร์มประกอบด้วยตัวอย่างการจดจำลายเสียง (voiceprint) มากกว่า 190,000 ตัวอย่าง ครอบคลุมเสียงร้องของนกมากกว่า 1,500 ประเภท

พื้นที่ชุ่มน้ำหนานต้ากั่ง ซึ่งบันทึกนกอพยพไว้กว่า 100,000 ตัวในปี 2566 ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของนก 272 ชนิด ซึ่ง 17 ชนิดได้รับการคุ้มครองระดับชาติชั้นหนึ่ง

ระบบติดตามนกที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโดรนและกล้องความละเอียดสูงได้อำนวยความสะดวกในการสังเกตและอนุรักษ์นกตามแนวทะเลสาบเตียนฉือในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งนักวิจัยเคยสังเกตนกด้วยกล้องโทรทรรศน์

ตามที่ พาน หมิ่น รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทะเลสาบที่ราบสูงเตียนฉือในคุนหมิง กล่าว การใช้กล้องความละเอียดสูง โดรน และอุปกรณ์ติดตามเสียงช่วยปรับปรุงความแม่นยำของข้อมูลนกและประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีนัยสำคัญ

พาน หมิ่น กล่าวว่า “ผลลัพธ์ที่ได้จากอุปกรณ์ตรวจสอบอัจฉริยะและข้อมูลจากการสำรวจด้วยตนเองจะเสริมซึ่งกันและกัน รวมถึงบูรณาการกันเพื่อให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์นกและประชากรนกที่แตกต่างกันในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้แม่นยำยิ่งขึ้น”