3 ปีกับความก้าวหน้าที่สำคัญของ RCEP ในการส่งเสริมความร่วมมือแบบเปิดในภูมิภาค

(People's Daily Online)วันพุธ 15 มกราคม 2025

นับตั้งแต่ RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2565 ก็เริ่มส่งผลประโยชน์ที่เด่นชัดมากขึ้น เช่น การลดภาษี ขั้นตอนทางศุลกากรที่ง่ายและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน RCEP มีบทบาทที่สำคัญต่อการปกป้องความมีเสถียรภาพและการไหลเวียนอย่างราบรื่นของห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมในภูมิภาค ช่วยผลักดันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เข้าสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูงในช่วงเวลาใหม่

ในเช้าวันที่ 2 มกราคม 2568 รถไฟขนสินค้าที่บรรทุกผลไม้และผักสดเริ่มออกเดินทางจากสถานีหวางเจียอิ๋งตะวันตกในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ มุ่งหน้าสู่ สปป.ลาว ผ่านทางรถไฟสายจีน-ลาว

นับเป็นไมล์สโตนใหม่สำหรับทางรถไฟสายนี้ ซึ่งมีการขนส่งสินค้ามากกว่า 50 ล้านตัน ซึ่งรวมถึงสินค้าข้ามพรมแดนจำนวน 11.58 ล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ RCEP มีผลบังคับใช้ ทางรถไฟจีน-ลาวได้กลายมาเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่เชื่อมโยงจีน ไทย กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ด้วยเส้นทางเดินเรือที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้สินค้าจากอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น สามารถไปถึงท่าเรือเซี่ยเหมินและท่าเรือฉวนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนได้โดยตรง รวมถึงท่าเรือในมณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีนด้วย

จากการศึกษาวิจัยของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) พบว่าภายในปี 2573 คาดการณ์ว่า RCEP จะเพิ่มรายได้ในภูมิภาคได้ถึง 245,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างการจ้างงานในภูมิภาคได้ 2.8 ล้านตำแหน่ง ด้วยการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง RCEP จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น

ข้อมูลที่เผยแพร่ในการประชุมโต๊ะกลมแห่งฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าวสำหรับเอเชียที่กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม 2567 ระบุว่า คาดว่ากัมพูชาจะพ้นสถานะจากสถานะประเทศด้อยพัฒนา (LDC) ภายในปี 2571 เนื่องมาจากเงินปันผลด้านการพัฒนาจาก RCEP

เพนน์ โซวิชิต (Penn Sovicheat) โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า RCEP และความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่กัมพูชาได้ลงนามกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน มีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางการค้าของกัมพูชาอย่างมาก

ตามสถิติของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าประมาณ 269,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 53.13 ของการค้าทั้งหมด และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 จากปีก่อน

ถัง จื้อหมิน ผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาจีน-อาเซียน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ RCEP เมื่อ 3 ปีก่อน จีนมีความคืบหน้าอย่างมากในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าบริการและความร่วมมือด้านการลงทุนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน แสดงให้เห็นถึงระดับการเปิดกว้างที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ”