เวียดนามอนุมัติโครงการรถไฟเชื่อมโยงกับจีน “ก้าวไปข้างหน้าสู่การสร้างเครือข่ายการขนส่งทั่วเอเชีย”
เมื่อวันพุธ สมัชชาแห่งชาติเวียดนามได้อนุมัติการลงทุนในโครงการรถไฟสายหล่าวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง ตามข้อมูลจากสำนักข่าวเวียดนาม โครงการรถไฟสายนี้มีมูลค่า 8.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะทางจากไฮฟอง เมืองท่าตอนเหนือของเวียดนามไปจนถึงจังหวัดหล่าวกาย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
การก่อสร้างทางรถไฟมีกำหนดจะเริ่มต้นภายในสิ้นปีนี้ โครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 2026 ถึง 2030 และทางรถไฟจะรองรับทั้งผู้โดยสารและสินค้า ตามรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ที่ส่งไปยังสภาแห่งชาติของเวียดนามจากการรายงานของสื่อท้องถิ่น
จากการรายงานของสื่อท้องถิ่น เมื่อทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จคาดว่าจะให้บริการประชากรเวียดนามร้อยละ 20, มีส่วนขับเคลื่อน GDP เป็นร้อยละ 25.4 และเป็นร้อยละ 25.1 ของพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศ นอกจากนี้ ยังจะให้บริการการขนส่งสินค้าออกจากเวียดนามและนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของเครือข่ายรถไฟเวียดนาม และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
สวี หลี่ผิง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอาเซียนแห่ง สถาบันบัณฑิตย์สังคมศาสตร์จีนกล่าวกับโกลบอลไทมส์เมื่อวันพุธว่า “เมื่อทางรถไฟเริ่มดำเนินการ จะช่วยปรับปรุงการค้าระหว่างจีนและเวียดนามอย่างมาก ในขณะเดียวกัน สินค้าเวียดนามสามารถขนส่งผ่านจีนไปยังยุโรปได้เร็วขึ้นและประหยัดต้นทุนมากขึ้น หลังจากที่ทางรถไฟเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป”
สวี ยังชี้ให้เห็นว่า นี่หมายความว่าเส้นทางรถไฟสายแพน-เอเชียกำลังค่อย ๆ กลายเป็นจริง โดยทางรถไฟจีน-เวียดนามและทางรถไฟจีน-ไทยจะเชื่อมต่อกันในอนาคต
ปัจจุบัน โครงข่ายทางรถไฟสายแพน-เอเชีย ซึ่งเป็นเครือข่ายรถไฟที่เชื่อมต่อจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังขยายตัวและก่อตัวขึ้น เครือข่ายนี้ได้ส่งมอบประโยชน์ให้กับประเทศที่เกี่ยวข้อง
ทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2564 ทางรถไฟสายนี้ได้เปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และลดต้นทุนการขนส่งและเวลาการขนส่งลงอย่างมาก
การก่อสร้างระยะแรกของทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย เริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2560 และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติระยะที่สองของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อไทยกับจีนผ่านลาว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว
ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า ตามคำกล่าวของ แอนโทนี โลค (Anthony Loke) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาเลเซียเปิดรับข้อเสนอเพื่อขยายเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลทางตะวันออก (East Coast Rail Line) ไปยังชายแดนไทย
สิงคโปร์มีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับมาเลเซีย และเมื่อเส้นทางมาเลเซีย-ไทยสร้างเสร็จ ทั้งสามประเทศจะเชื่อมต่อกันด้วยเครือข่ายรถไฟ
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อเสนอของมาเลเซียจะทำให้เส้นทางกลางของเส้นทางรถไฟสายแพน-เอเชียที่วางแผนไว้สามารถเชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีนกับสิงคโปร์
การเชื่อมต่อการขนส่งที่ขยายตัวและปรับปรุงนี้ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดมากขึ้น
ตามข้อมูลจากกรมศุลกากร จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 และอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และในปี 2567 การค้าระหว่างสองฝ่ายมีมูลค่า 6.99 ล้านล้านหยวน (959 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า
สวี กล่าวว่า “โครงข่ายทางรถไฟสายแพน-เอเชียจะเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งเสริมการรวมตัวของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”