เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติสำหรับนกกระเรียนคอดำทางตอนใต้ของจีนได้รับการปกป้องอย่างดี
หลังอาหารเที่ยง เฉิน กวงฮุย กำลังเดินทางไปให้อาหารนก เธอเป็นผู้ดูแลนกกระเรียนคอดำในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติยูนนานต้าชันเปาสำหรับนกกระเรียนคอดำ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองจาวทง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
เฉินกล่าวว่า “แม่สามีของฉันเริ่มให้อาหารนกกระเรียนด้วยความสมัครใจใน ค.ศ. 1992 และฉันรับหน้าที่ต่อจากเธอเมื่อปี 2003” พร้อมเสริมว่านกเหล่านี้มาถึงอย่างตรงเวลาทุกปีในช่วงเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน และจากไปในช่วงเดือน 3 ของปีถัดไป
เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้เป็นสถานที่หลบหนาวที่สำคัญของนกกระเรียนคอดำ ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองระดับหนึ่งของจีน นกกระเรียนหายากชนิดนี้ค่อนข้างเลือกสรรถิ่นที่อยู่ ต้องการน้ำที่ใสสะอาดและพื้นที่ชุ่มน้ำที่ไม่ถูกรบกวน ต้าชันเปาจึงเป็นสถานที่ที่มีสภาพธรรมชาติที่เหมาะสำหรับนกกระเรียนคอดำในการใช้ชีวิตในช่วงฤดูหนาว
เฉินกล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการปกป้องนกกระเรียนคอดำ ผลที่ตามมาคือจำนวนนกกระเรียนคอดำที่มาหลบหนาวในต้าชันเปาเพิ่มขึ้นจากกว่า 200 ตัวใน ค.ศ. 1990 เป็นมากกว่า 2,000 ตัวในปัจจุบัน”
เฉินเสริมว่า เขตอนุรักษ์ธรรมชาติมีชื่อเสียงมากขึ้นเนื่องจากนกเหล่านี้ได้ดึงดูดนักดูนกจากที่ต่าง ๆ ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้องถิ่นเติบโต และเพิ่มการตระหนักรู้ในการปกป้องนกในหมู่ชาวบ้าน
ในปีที่ผ่านมา เมืองจาวทงได้ดำเนินการตามแนวทางสามประการเพื่อปกป้องนกกระเรียน ได้แก่ การบังคับใช้กฎระเบียบการคุ้มครองเฉพาะ การจัดตั้งกลไกการชดเชย และการดำเนินโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายโครงการ ในการนี้ เมืองได้เริ่มโครงการย้ายถิ่นฐานบางส่วนของผู้คนออกจากต้าชันเปา เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อนกกระเรียนคอดำและสัตว์ป่าอื่น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เขตอนุรักษ์ธรรมชาติได้ดำเนินการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยอย่างกว้างขวาง โดยสร้างบ่อบำบัดน้ำขนาด 1.53 เฮกตาร์ ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ 608.78 เฮกตาร์ และจัดตั้งฐานแหล่งอาหารสำหรับนกกระเรียนขนาด 30 เฮกตาร์
เมืองจาวทงยังใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อปกป้องนกกระเรียน โดยติดตั้งกล้องอินฟราเรดกว่า 30 ตัว และมีแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของนกกระเรียนแบบเรียลไทม์ ในปี ค.ศ. 2022 อัตราการขยายพันธุ์ของนกกระเรียนคอดำในต้าชันเปาเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอัตราการรอดชีวิตของลูกนกกระเรียนเกิน 80%
การเพิ่มขึ้นของจำนวนนกกระเรียนคอดำและนกอพยพอื่น ๆ ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติยังเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์และชุมชนท้องถิ่น