คนรุ่นใหม่ในมาเก๊ากล้าลงมือทำตามความฝันในเขตอ่าวใหญ่

(People's Daily Online)วันศุกร์ 21 กุมภาพันธ์ 2025

เวลา 10 โมงเช้า ที่ร้านทาร์ตไข่ใกล้ถนนกัวหลานในมาเก๊า มีผู้คนต่อแถวยาวรอซื้อทาร์ตไข่อยู่หน้าร้าน หลายคนกำลังถือทาร์ตไข่คาราเมลถ่ายรูปเพื่อโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ข้างในร้าน บิลลี่ กวอก เจ้าของร้าน กำลังยุ่งอยู่กับงานตามปกติ นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจในปี 2563 ชายหนุ่มคนนี้ได้กลายมาเป็นเจ้าของร้านทาร์ตไข่ชื่อดังหลายสาขา


บิลลี่ กวอก กำลังอบทาร์ตไข่ในครัว (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

ทาร์ตไข่ของมาเก๊ามีต้นกำเนิดจากโปรตุเกส และได้รับการปรับปรุงสูตรหลายครั้ง จนได้รูปร่างและรสชาติที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองรสนิยมของนักท่องเที่ยว บิลลี่ กวอกได้ปรับสูตรดั้งเดิมให้ดีขึ้นด้วยการควบคุมความหวาน ทำให้ทาร์ตไข่มีรสหวานแต่ไม่เลี่ยนจนเกินไป แถมยังมีเปลือกนอกกรอบและเนื้อในนุ่ม

เขาอธิบายว่า “ทาร์ตไข่โปรตุเกสอยู่ในใจของชาวมาเก๊ามานานแล้ว อย่าเข้าใจผิดคิดว่ามันมีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะคนท้องถิ่นอย่างเราก็ชอบกินทาร์ตไข่เช่นกัน บางทีก็แวะซื้อมากินเป็นของว่าง ทาร์ตไข่ไม่ได้เป็นเพียงของขึ้นชื่อของมาเก๊าอีกต่อไป แต่มันได้กลายเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ในการนำเสนอให้มาเก๊าเป็น ‘เมืองแห่งอาหาร’”

การพัฒนาของเขตความร่วมมือเชิงลึกกวางตุ้ง-มาเก๊า และสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างของมาเก๊า ได้สร้างพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ปีที่แล้ว บิลลี่ กวอกได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นใหม่ในเหิงฉิน มณฑลกวางตุ้ง และร้านสาขาใหม่สองสาขาในเซินเจิ้น เขากล่าวว่า “ต้องขอบคุณนโยบายที่ดีของประเทศ ที่มอบความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากฮ่องกงและมาเก๊าในการขยายตลาดสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (เขตอ่าวใหญ่)”


วิคกี้ หยง เดินไปตามถนนกวานเฉียนในมาเก๊า (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

ถนนกว้านเฉียน ใกล้กับซากปรักหักพังของโบสถ์เซนต์ปอล เคยเป็นหนึ่งในย่านที่เก่าแก่และคึกคักที่สุดของมาเก๊า ปัจจุบัน ย่านนี้เต็มไปด้วยร้านค้าและคาเฟ่ที่มีศิลปะที่ผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับบรรยากาศทางวัฒนธรรม วิคกี้ หยง เป็นชาวมาเก๊าโดยกำเนิด เธอเป็นนักร้อง นักออกแบบ และอาสาสมัครที่ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมาเก๊า

เธอครุ่นคิดว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานอนุรักษ์และปรับปรุงพื้นที่กันมากมาย โดยนำความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเรามาผสมผสานกับมาเก๊าในปัจจุบัน เพื่อฟื้นฟูเมืองเก่าให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ฉันออกแบบผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ทำสตรีมมิ่ง และเพื่อน ๆ มักเรียกฉันว่า ‘slash youth’(คนรุ่นใหม่ที่เปิดรับหลายบทบาทและอาชีพ) คนหนุ่มสาวในมาเก๊าก็เป็นแบบนี้ ในภาษากวางตุ้ง เรามีคำว่า ‘Dan Cu Cu’ ซึ่งหมายถึงความกล้าหาญหรือความกล้าได้กล้าเสีย เราอยากลองทำทุกอย่าง”


คริสตัล กวอก กำลังตรวจสอบกระบวนการหมักเบียร์ที่โรงเบียร์ของเธอ (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

คริสตัล กวอก ชาวกว่างโจวและศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยมาเก๊า เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ และได้ก่อตั้งโรงเบียร์แห่งเดียวในมาเก๊า เธอมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนวัฒนธรรมของมาเก๊า เช่น เบียร์เอลทาร์ตโปรตุเกส เบียร์พิลส์เนอร์ชานมเย็นถนนกว้านเฉียน และเบียร์ลาเกอร์หาดแฮกซา องค์ประกอบต่าง ๆ ของมาเก๊าถูกถักทอเข้าไปในแบรนด์คราฟต์เบียร์ของเธอ

“มาเก๊าเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างเหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ” คริสตัล กวอกกล่าว “วัฒนธรรมที่นี่มีความเปิดกว้างและในเขตอ่าวใหญ่ยังมีกลไกและทรัพยากรมากมายที่สนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างพวกเราได้มาก”

ปัจจุบัน คริสตัล กวอก และแบรนด์คราฟต์เบียร์ของเธอกำลังขยายตลาดเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ เธอกล่าวว่า “เราหวังว่าเบียร์ของเราจะช่วยให้ผู้คนได้รู้จักมาเก๊ามากขึ้น”