การค้นพบเครื่องเซรามิกทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเผยให้เห็นถึงการบูรณาการจากหลายชาติพันธุ์ในหลายศตวรรษก่อน
![]() |
นักโบราณคดีกำลังขุดค้นที่เตาเผาซูอวี้โข่ว (Suyukou kiln) ในภูเขาเหอหลาน ในเมืองอิ๋นชวน เมืองเอกของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 (ซินหัว) |
เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งผลิตขึ้นเมื่อเกือบ 1,000 ปีที่แล้วในช่วงราชวงศ์ที่ปกครองโดยกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตใน “เมืองหลวงแห่งเครื่องปั้นดินเผา” จิ่งเต๋อเจิ้นทางตะวันออกของจีน
นักโบราณคดีเชื่อว่าการค้นพบในหนิงเซี่ยเป็นหลักฐานของการบูรณาการหลายชนชาติของประเทศในเวลานั้น
ซากเตาเผาซูอวี้โข่วถูกค้นพบในปี 2560 ในเมืองอิ๋นชวน เมืองเอกของหนิงเซี่ย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร
ระหว่างปี 2564 ถึง 2567 นักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีและวัฒนธรรมหนิงเซี่ยและมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นได้ขุดค้นพื้นที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร พบซากโรงงานที่มีเตาเผา 6 เตา รวมถึงบ่อที่คนงานเคยขุดดินปั้นเครื่องปั้นดินเผา ถ่านหิน ควอตซ์ ปูนขาว และวัตถุดิบและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการผลิตเครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผาสีขาวคุณภาพสูงที่พบในสถานที่แห่งนี้มีเนื้อละเอียด แวววาว และโปร่งแสง ซึ่งคล้ายคลึงกับที่พบในจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี
จากการพิจารณาจากขนาดการผลิตและภาชนะที่ทำเครื่องหมายด้วยตัวอักษรภาษาจีนที่อ่านว่า “กวน” (guan) ซึ่งหมายถึงราชการ นักโบราณคดีเชื่อว่าเตาเผาซูอวี้โข่วเป็นเตาเผาของราชการที่ผลิตชาม ถ้วย จาน และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับราชวงศ์ในช่วงราชวงศ์ซีเซี่ย (ค.ศ. 1038-1227)
ฉิน ต้าซู่ ศาสตราจารย์จากคณะโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุว่า เครื่องปั้นดินเผาสีขาวดังกล่าวเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงและนักปราชญ์ในช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127)
เขากล่าวว่า “ซ่งและซีเซี่ยเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด” และ “เป็นไปได้ว่าข้าราชการของซ่งเหนือส่งช่างฝีมือดีไปยังซีเซี่ยและช่วยพวกเขาผลิตเครื่องปั้นดินเผาสีขาวคุณภาพสูงนี้”
จากการศึกษาของนักโบราณคดีเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาที่พบในสถานที่แห่งนี้พบว่า ปริมาณควอตซ์และคุณสมบัติใกล้เคียงหรือถึงมาตรฐานทางเทคนิคของ “เครื่องปั้นดินเผาที่มีควอตซ์สูง”สมัยใหม่ ซึ่งทำให้เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เป็นการค้นพบ “เครื่องปั้นดินเผาควอตซ์สูง” ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน
จู ชุนสือ หัวหน้าสถาบันโบราณคดีและวัฒนธรรมหนิงเซี่ย ระบุว่า ดินปั้นเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบใกล้ซูอวี้โข่วมีปริมาณอลูมิเนียมออกไซด์สูง ซึ่งทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาสีขาวละเอียดเช่นนี้เป็นเรื่องยาก
เขาอธิบายว่า “ช่างฝีมือได้เพิ่มควอตซ์ลงในดินปั้นอย่างสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนของซิลิกอนไดออกไซด์และลดสัดส่วนของอลูมิเนียมออกไซด์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับเครื่องปั้นดินเผาจากจิงเต๋อเจิ้น”
การค้นพบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี “สูตรคู่” ของเครื่องปั้นดินเผาจีนสามารถย้อนกลับไปได้ถึงราชวงศ์ซีเซี่ยตอนต้น และไม่ได้มีต้นกำเนิดในราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368) ตามที่เคยเชื่อกัน
สถานที่ซูอวี้โข่วถือเป็นเตาเผาของราชวงศ์ซีเซี่ยที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในจีน ลี่ เจิง นักวิจัยจากสำนักบริหารมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติจีน ระบุว่า การค้นพบเตาเผาซูอวี้โข่ว ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอธิบายที่มาของเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้โดยราชวงศ์ซีเซี่ย ซึ่งเป็นการตอบคำถามทางโบราณคดีที่สำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาของเครื่องปั้นดินเผาของจีน
ลี่ เจิงกล่าวว่า “สถานที่เตาเผาซูอวี้โข่ว ซึ่งรวมเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาระดับสูงจากทั้งภาคใต้และภาคเหนือของจีนในเวลานั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางเทคนิคและวัฒนธรรมระหว่างราชวงศ์ซีเซี่ยและซ่งเหนือ และเป็นภาพสะท้อนของการบูรณาการหลายชนชาติในจีนโบราณ”
![]() |
นักโบราณคดีกำลังสำรวจสถานที่เตาเผาซูอวี้โข่ว (Suyukou kiln) ในภูเขาเหอหลาน ในเมืองอิ๋นชวน เมืองเอกของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 (ซินหัว) |