เส้นทางของช่างก่ออิฐรุ่น Gen-Z สู่ตำแหน่งสภานิติบัญญัติระดับสูงของจีน
สำหรับ โจว ปิน วัย 29 ปี การเดินทางจากหมู่บ้านห่างไกลสู่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง สถานที่จัดงานประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชน ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติระดับสูงของจีน เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท
ก่อนการประชุมของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) สมัยที่ 14 โจว ปิน ซึ่งเป็นทั้งผู้ตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างและสมาชิก NPC ได้เดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้างสนามบินในมณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของจีน เพื่อรับฟังข้อกังวลของแรงงานต่างถิ่น
ตั้งแต่ได้เป็นสมาชิก NPC เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทุก ๆ เดือน เขาจะใช้เวลาสามวันไปที่สถานที่ก่อสร้าง เพื่อพูดคุยกับแรงงานและบันทึกข้อเรียกร้องของพวกเขา รวมทั้งเสนอข้อเสนอแนะมากกว่า 10 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่สิทธิของแรงงานต่างถิ่น
จากช่างก่ออิฐสู่ช่างฝีมือ
โจวเติบโตในหมู่บ้านบนเขาที่ยากจนในมณฑลหูหนาน เขาเริ่มเรียนรู้การก่ออิฐในปี 2554 ที่สถานที่ก่อสร้างในเมืองฉางชา เมืองเอกของมณฑล โดยเดินตามรอยเท้าของพ่อเพื่อเป็นแรงงานต่างถิ่น
ต่างจากคนอื่น ๆ ที่ทำงานเพื่อความเร็ว โจวมุ่งมั่นในความสมบูรณ์แบบ บ่อยครั้งที่เขาทำกำแพงใหม่เพื่อให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสูงของตัวเอง
ความทุ่มเทของเขานำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาชีพ ในปี 2558 เขาเข้าแข่งขันในงานการแข่งขันทักษะโลก (WorldSkills Competition) ที่บราซิล และได้รับรางวัลเหรียญแห่งความเป็นเลิศ (Medallion for Excellence) ในการก่ออิฐ สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศจีนในสาขานี้
ไม่นานหลังจากนั้น โจวได้รับการว่าจ้างเป็นผู้ตรวจสอบโครงการของบริษัท China State Construction Engineering Corporation ซึ่งติดอันดับ Fortune 500 เขานำทีมและเป็นที่ปรึกษาให้กับช่างก่ออิฐคนอื่น ๆ
ก้อนอิฐแต่ละก้อนที่โจววาง ไม่เพียงแต่นำพาเขาให้กลายเป็นช่างฝีมือที่แท้จริงในหมู่แรงงานก่อสร้าง แต่ยังพาเขาไปสู่การเป็นสมาชิก NPC จากระดับรากหญ้า
เสียงที่สร้างความแตกต่าง
ในปี 2561 โจวได้รับเลือกเป็นสมาชิก NPC ซึ่งเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในคณะผู้แทนจากมณฑลหูหนาน ตอนนั้นเขาอายุเพียง 23 ปี และตั้งแต่นั้นมา เขาก็ทุ่มเทเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานต่างถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเกือบ 300 ล้านคนในจีน
“ตอนแรกผมรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย แต่แล้วด้วยภาระความรับผิดชอบทำให้ผมนอนไม่หลับ” โจวกล่าว “ผมรู้สึกขอบคุณโอกาสที่ได้เป็นเสียงของประชาชนอย่างผม”
ข้อเสนอแรกของโจวในการประชุม NPC คือการเรียกร้องให้มีการศึกษาด้านเทคนิคและการคุ้มครองแรงงานที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานก่อสร้าง ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายหลักของเขาในฐานะสมาชิก NPC
ความพยายามของเขาประสบผลสำเร็จ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว โดยมีการผลักดันโครงการฝึกอาชีพขนาดใหญ่ตั้งแต่ปีนั้น และมีการออกกฎหมายฉบับแรกของประเทศเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างตรงต่อเวลาในปี 2562
ภายในหนึ่งปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ หน่วยงานฯ ช่วยให้แรงงานต่างถิ่น 643,000 คนได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยที่ค้างชำระประมาณ 6.4 พันล้านหยวน (ประมาณ 893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การเปลี่ยนแปลงของแรงงานต่างถิ่น
โจวได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก NPC อีกครั้งในปี 2566 เขาเป็นหนึ่งในแรงงานต่างถิ่น 56 คนที่ได้นั่งในสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ 14 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2551 ที่มีแรงงานต่างถิ่นเพียง 3 คนที่ได้เข้าสู่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ
ด้วยความมั่นใจและสง่างามมากขึ้น ผู้สนับสนุนแรงงานต่างถิ่นผู้นี้ได้ตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในวาระใหม่ของเขาตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2571 นั่นคือการช่วยให้แรงงานต่างถิ่นกลายเป็นแรงงานฝีมือระดับมืออาชีพ
ความพยายามของเขาเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลักดันของจีนในการเสริมพลังให้แรงงานต่างถิ่น
ตามแนวทางที่ออกในปี 2567 จีนตั้งเป้าที่จะสร้างช่างฝีมือระดับชาติประมาณ 2,000 คน และช่างฝีมือระดับมณฑลและเมือง 60,000 คน ภายในปี 2578
โจวเรียกตัวเองว่า “ผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” จากนโยบายปฏิรูปที่เข้มงวดของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขากล่าวว่า “นี่คือยุคที่ทุกคนมีโอกาสที่จะเปล่งประกาย”
ในการประชุม NPC ปีนี้ โจวเตรียมข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมดั้งเดิมและระบบฝึกทักษะสำหรับแรงงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนช่างฝีมือแรงงานที่ขยันขันแข็งให้กลายเป็นช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญ
เขากล่าวว่า “ผมหวังว่าแรงงานต่างถิ่นจะได้มีเวทีเพื่อพัฒนาตัวเองมากขึ้น”
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โจวได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างถิ่นและการปรับปรุงสภาพการทำงานและชีวิตของพวกเขา ปัญหาต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาลและการศึกษาของลูกๆ กำลังได้รับการแก้ไขทีละขั้นตอน
“ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ” เขากล่าวพร้อมเสริมว่า “เป้าหมายของผมยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการทำให้แรงงานต่างถิ่นเป็นกลุ่มที่ได้รับการเคารพและมีความรู้สึกถึงความสำเร็จและศักดิ์ศรี”