มณฑลเจียงซูพัฒนาอุตสาหกรรมสตรอเบอรี่ สนับสนุนการฟื้นฟูชนบทของจีน

(People's Daily Online)วันพุธ 26 มีนาคม 2025
มณฑลเจียงซูพัฒนาอุตสาหกรรมสตรอเบอรี่ สนับสนุนการฟื้นฟูชนบทของจีน
เฉิน เจิ้งไห่ ตรวจการเจริญเติบโตของสตรอว์เบอร์รีภายในโรงเรือนสมัยใหม่ ที่สวนสาธิตอุตสาหกรรมการเกษตรแห่งหมู่บ้านซินหมิน เขตเหยียนตู เมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมสตรอเบอร์รีอย่างแข็งขัน เพื่อสนับสนุนนโยบายการฟื้นฟูชนบทของประเทศ

ข้อมูลจากกรมเกษตรและกิจการชนบทของเจียงซูระบุว่า ภายในสิ้นปี 2567 เจียงซูมีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีเกือบ 300,000 หมู่ (125,000 ไร่) ให้ผลผลิตมากกว่า 500,000 ตัน ติดอันดับ 4 ของประเทศในแง่ของขนาดการผลิต

หมู่บ้านซินหมิน: ต้นแบบความสำเร็จ

เมื่อ 18 ปีก่อน หมู่บ้านซินหมินในเขตเหยียนตู เมืองเหยียนเฉิง มีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีเพียง 120 หมู่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสวนสาธิตเกษตรสมัยใหม่ขนาด 3,200 หมู่ โดยรายได้เฉลี่ยต่อคนของหมู่บ้านเพิ่มจาก 19,000 หยวน (ประมาณ 95,000 บาท) เป็น 45,000 หยวน (ประมาณ 225,000 บาท) ในปีที่ผ่านมา

เฉิน เจิ้งไห่ เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี เล่าว่า เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เขาได้เข้าไปในโรงเรือนสตรอว์เบอร์รีสมัยใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความสูง 8 เมตร พร้อมระบบปลูกแนวตั้ง ระบบควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี ระบบให้น้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ และท่อความร้อนไฟฟ้า เขาตัดสินใจเช่าพื้นที่ 5 หมู่ (2.083 ไร่) ทันทีหลังเห็นความทันสมัย

ผลตอบแทนที่แตกต่าง

โรงเรือนแบบเดิมให้ผลผลิต 2,000 กก. ต่อพื้นที่หนึ่งหมู่ (1 ไร่ เท่ากับ 2.4 หมู่) และรายได้ประมาณ 35,000 หยวน/หมู่ ในขณะที่โรงเรือนสมัยใหม่ให้ผลผลิตเกือบ 3,500 กก./หมู่ รายได้สูงถึง 50,000 หยวน/หมู่ โดยเกษตรกรสามารถคืนทุนค่าเช่าได้ก่อนเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีรุ่นแรก

ตง เจาฟู เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำหมู่บ้านซินหมิน กล่าวว่า “ชั้นปลูกสตรอว์เบอร์รีสามารถปรับความสูงได้ การเก็บผลผลิตจึงสะดวกเหมือนหยิบสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต” ปัจจุบัน สวนสาธิตผลิตสตรอว์เบอร์รีได้ 40 ตัน/วัน โดย ร้อยละ 30 ถูกขายผ่านการท่องเที่ยวเก็บผลไม้ และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเกือบ 100,000 คนในฤดูเก็บเกี่ยวนี้

นอกจากนี้ หมู่บ้านยังร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเจียงซู เพื่อพัฒนาพันธุ์สตรอว์เบอร์รีใหม่ โดยมี 130 ครัวเรือนที่ปลูกกล้าสตรอว์เบอร์รี สร้างรายได้รวมกว่า 11 ล้านหยวน/ปี

ความสำเร็จของสตรอว์เบอร์รีจากเหยียนตู

เซี่ย เจ้าเปียว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรเขตเหยียนตู กล่าวว่า “ความสำเร็จของสตรอว์เบอร์รีเหยียนตูเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ แนวทางนวัตกรรม และการพัฒนากำลังการผลิตคุณภาพสูง”

ปัจจุบัน สตรอเบอร์รียันตูซึ่งได้รับเครื่องหมาย GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ของจีน มีพื้นที่ปลูก 13,000 หมู่ มีมูลค่าผลผลิตปีละกว่า 1 พันล้านหยวน และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 25,000 ครัวเรือน

“สตรอว์เบอร์รีของเรามีชื่อเสียงมาก จนทำให้เหยียนตูได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน‘โอลิมปิกแห่งวงการสตรอว์เบอร์รี’ หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการสตรอว์เบอร์รีนานาชาติ (International Strawberry Symposium) ครั้งที่ 10”

เช่นเดียวกันกับที่บริษัทหนานจิง โกลเด้น แมเนอร์ อกริคัลเจอร์รัล โพรดักส์ในเมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีกว่า 5,000 หมู่ นายอู๋ จงผิง ประธานบริษัทกล่าวว่า บริษัทฯ ใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิเร็ว (rapid pre-cooling) และ เทคโนโลยีการสเตอริไลซ์ด้วยพลาสม่า เพื่อยืดอายุสตรอว์เบอร์รี ที่ส่งออกไปยังสิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย “ผมยังได้เข้าร่วมการสัมมนา International Strawberry Symposium ครั้งที่ 10 ด้วย และได้แบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนร่วมงานจากประเทศต่าง ๆ”

นอกจากนี้ นายจ้าว หัวเผิง ผู้บริหารบริษัท Jurong Huada Agriculture Products Process Co., Ltd. ในมณฑลเจียงซูได้รับคำสั่งซื้อแยมสตรอว์เบอร์รี 10,000 ขวด และบริษัทฯ มีการใช้สตรอว์เบอร์รีดิบมากกว่า 200 ตัน/ปี ซึ่งวัตถุดิบราวครึ่งหนึ่งมาจากแหล่งปลูกในท้องถิ่น

อุตสาหกรรมสตรอว์เบอร์รีของเจียงซูไม่เพียงสร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่าน นวัตกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และการแปรรูป สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของจีนในการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน

โรงเรือนกระจก (กรีนเฮาส์) ของสวนสาธิตอุตสาหกรรมการเกษตรแห่งหมู่บ้านสมัยใหม่ในหมู่บ้านซินหมิน เขตเหยียนตู เมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
นักเทคนิคกำลังตรวจสอบท่อส่งน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะปลูกในสวนอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่แห่งหมู่บ้านซินหมิน เขตเหยียนตู เมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)