หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนเบ่งบาน! อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น
ทั่วจีนกำลังใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมชาติพันธุ์อันหลากหลายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้ชุมชนและฟื้นฟูชนบทอย่างยั่งยืน
ในหมู่บ้านต้งจ้าวซิง อำเภอหลีผิง แคว้นปกครองตนเองเฉียนตงหนาน กลุ่มชาติพันธุ์เหมียวและต้ง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อหกปีก่อน อิ๋ง หย่งซิ่วได้ลงทุนเงินจำนวน 2 ล้านหยวน (ราว 9.34 ล้านบาท) เพื่อต่อยอดสถาปัตยกรรมบ้านไม้ของเธอสู่ธุรกิจโฮมสเตย์และนำชาวบ้านในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว
หมู่บ้านต้งจ้าวซิงในกุ้ยโจว: ต่อยอดสถาปัตยกรรมบ้านไม้สู่ธุรกิจโฮมสเตย์
หมู่บ้านต้งจ้าวซิง ก่อตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960–1127) เป็นหนึ่งในหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต้งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน เนื่องจากกลุ่มบ้านเรือนไม้ยกเสาสูงในหมู่บ้านเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมต้ง การปกป้องบ้านแบบดั้งเดิมเหล่านี้อย่างเป็นระบบจึงมีความจำเป็นต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของหมู่บ้าน
อิ๋งกล่าวว่า “ผู้คนต่างชื่นชมคุณลักษณะทางชาติพันธุ์และประสบการณ์ทางวัฒนธรรมมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้เพิ่มขึ้นทุกปี และรูปแบบการตกแต่งของเราได้กลายเป็นจุดขายที่สำคัญ” เมื่อธุรกิจเฟื่องฟู เธอได้จ้างพนักงานสองคน
ในปี 2567 หมู่บ้านแห่งนี้ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว 1.02 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวเกิน 1 พันล้านหยวน จนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงแรม B&B มากกว่า 320 แห่งและร้านอาหารมากกว่า 50 แห่ง โดยมีรายได้ต่อหัวเกิน 40,000 หยวนต่อปี ด้วยการปกป้องวัฒนธรรมชาติพันธุ์และพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชาวเมืองจำนวนมากขึ้นจึงสามารถหารายได้จากการท่องเที่ยวและค้นหาเส้นทางสู่ความเจริญรุ่งเรือง
หมู่บ้านกวางตงในจี๋หลิน: ผสมผสานเกษตร-ท่องเที่ยว ดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับบ้าน
ที่หมู่บ้านกวางตง ตำบลตงเฉิง เมืองเหอหลง แคว้นปกครองตนเองเหยียนเปียน กลุ่มชาติพันธุ์เกาหลี มณฑลจี๋หลิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หยาง หลี่น่า ประธานสหกรณ์โรงแรมบีแอนด์บี (B&B) กำลังต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่โรงแรมที่ดัดแปลงมาจากลานบ้านในชนบท
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านกวางตงได้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต้น ขั้นที่สอง และขั้นที่สามอย่างแข็งขัน
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของการปลูกข้าว ข้าวของหมู่บ้านกวางตงจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของโลกภายนอก จนกระทั่งในปี 2011 หยาง วัย 26 ปี กลับบ้านเกิดเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในชนบท นอกเหนือจากที่อยู่อาศัยอันเป็นเอกลักษณ์ การแสดงเต้นรำ และอาหารชาติพันธุ์แล้ว หยางยังมุ่งเป้าไปที่ทุ่งนาอันกว้างใหญ่
หยางสร้างจุดชมวิวข้างๆ นาข้าวโดยไม่กระทบต่อการปลูกข้าว และนำรถไฟขนาดเล็กและประสบการณ์การปลูกข้าวมาเปิดตัว ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
การผสมผสานระหว่างเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวได้กลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการเพิ่มรายได้ของชาวบ้าน หมู่บ้านกวางตงมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมประมาณ 500,000 คนต่อปี รายได้ทางเศรษฐกิจโดยรวมของหมู่บ้านเพิ่มขึ้นจาก 100,000 หยวนเมื่อ 10 ปีก่อนเป็นมากกว่า 1 ล้านหยวนเมื่อปีที่แล้ว ในปี 2567 รายได้สุทธิต่อหัวของหมู่บ้านอยู่ที่ 21,000 หยวน เพิ่มขึ้น 3.2 เท่าจากปี 2558
“ขณะที่หมู่บ้านกำลังพัฒนาไปก็ได้ดึงดูดวัยหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นให้กลับบ้านเกิด” จิน เซี่ยน หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำหมู่บ้านกล่าว
หมู่บ้านกัวลั่วจ้างก้งหมาในชิงไห่: จากเลี้ยงสัตว์ สู่เศรษฐกิจสีเขียว
หมู่บ้านกัวลั่วจ้างก้งหมา ซึ่งตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 3,300 เมตร ในเมืองซาหลิ่วเหอ (Shaliuhe) อำเภอกางชา (Gangca) แคว้นปกครองตนเองไห่เป่ย กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์สมัยใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เมื่อปีที่แล้ว สหกรณ์สามแห่งในหมู่บ้านได้จัดการพื้นที่ทุ่งหญ้า 64,300 หมู่ (4,286.67 เฮกตาร์) สร้างรายได้ต่อปีประมาณ 1.41 ล้านหยวน
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว บริษัท Gongluo Agricultural and Livestock Products Development Co., Ltd. ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุน 3.5 ล้านหยวนในหมู่บ้าน ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ยอดขายของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเกือบ 200,000 หยวน
หมู่บ้านริมทะเลสาบชิงไห่แห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยพึ่งพาการเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน ยังได้พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย ในปี 2567 รายได้เศรษฐกิจรวมของหมู่บ้านสูงเกิน 800,000 หยวน โดยรายได้ต่อหัวของครัวเรือนที่ได้รับการบรรเทาความยากจนอยู่ที่ประมาณ 19,818 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.04 จากปีก่อน