บทบาทของเอเชียในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเติบโตโลก
รายงานที่เผยแพร่ในวันอังคาร (25 มี.ค.) ที่งานประชุมฟอรั่มโป๋อ๋าวสำหรับเอเชียประจำปี ค.ศ. 2025 ระบุว่า เศรษฐกิจเอเชียซึ่งมีอัตราการเติบโตของ GDP จริงที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5% ในปีนี้ จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
งานนี้จัดขึ้นหลังจากการประชุม “China Development Forum 2025” ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันจันทร์ โดยทั้งสองงานรวบรวมผู้นำภาครัฐและธุรกิจระดับสูงจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าประเด็นหลักของฟอรั่มนี้ก็เห็นอย่างชัดเจนว่า ภายใต้การนำของจีน เอเชียกำลังย้ำเจตนารมณ์ในการเปิดกว้างและรักษาเสถียรภาพ ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับแนวโน้มการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เพิ่มการใช้มาตรการคว่ำบาตรและภาษีตามอำเภอใจ
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและความก้าวหน้าในการบูรณาการประจำปี ค.ศ. 2025 ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร คาดการณ์ว่าสัดส่วน GDP ของเศรษฐกิจเอเชียในเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 36.1% ในปี 2567 เป็น 36.4% ในปี 2568 ในด้านความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (PPP) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เปรียบเทียบผลิตภาพทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพระหว่างประเทศ คาดว่าสัดส่วนเศรษฐกิจเอเชียในเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มจาก 48.1% เป็น 48.6% ในปีนี้
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย คาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตสูงเกิน 5% ในปีนี้
จาง ยฺวี่เหยียน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังและสมาชิกสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (CASS) กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจนี้แสดงว่าเอเชียในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 และยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพนี้”
รายงานยังระบุว่า แม้จะมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่คาดว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียจะยังคงมีแนวโน้มขาขึ้นในปีนี้
ท่ามกลางการเติบโตนี้ จีนยังคงเป็นจุดหมายที่น่าดึงดูดที่สุดสำหรับนักลงทุนต่างชาติในภูมิภาค นวัตกรรมที่แข็งแกร่งของจีนในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (สะท้อนจากบริษัทอย่าง DeepSeek) ยิ่งตอกย้ำสถานะของจีนในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ สร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั่วโลก
โจว เสี่ยวชวน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวในที่ประชุมว่า “จีนกำลังตอบสนองต่อความต้องการของโลกด้วยความรับผิดชอบและกล้าหาญ โดยยังคงมอบความมั่นคงและความแน่นอนให้กับโลก และเนื่องจากในปี 2568 เป็นปีสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) จีนจะเดินหน้าปฏิรูปอย่างลึกซึ้งและขยายการเปิดกว้างระดับสูงต่อไป”
เขากล่าวเสริมว่า “จีนจะใช้นโยบายการเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น สนับสนุนการบริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน และขยายอุปสงค์ภายในทุกภาคส่วน”
รายงานชี้ให้เห็นว่า สงครามการค้าที่สหรัฐฯ เริ่มในปี 2561 ไม่ได้ปรับปรุงสถานะของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตโลก แต่กลับทำให้ช่องว่างระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในด้านนี้กว้างขึ้น
การค้าสินค้าขั้นกลางของโลกพึ่งพาจีนมากขึ้นเมื่อเทียบกับอเมริกาเหนือ โดยในปี 2566 การพึ่งพาจีนอยู่ที่ 16% เมื่อเทียบกับอเมริกาเหนือซึ่งอยู่ที่ 15%
หลิน กุ้ยจวิ้น อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศและเศรษฐกิจปักกิ่ง กล่าวว่า “มาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อทุกหุ้นส่วนการค้า ไม่ใช่แค่จีน ประเทศอื่น ๆ ต่างตอบโต้แบบไม่เป็นเอกภาพและอ่อนแอ รวมถึงขาดการประสานงาน”
จาง ยฺวี่เหยียน จาก CASS กล่าวว่า “ในขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศเคยมุ่งสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน หลายประเทศเปลี่ยนไปสู่เกมผลรวมศูนย์ (zero-sum game) และด้วยมาตรการการค้าใหม่ของสหรัฐฯ สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปสู่เกมผลรวมติดลบ (negative-sum game) ที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับความเสียหายของตัวเอง ตราบใดที่คู่แข่งเสียหายมากกว่า”
จางกล่าวเพิ่มว่า “แต่โลกต้องการเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือและความเจริญร่วมกัน ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้มาจากกำไรส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังมาจากการช่วยเหลือผู้อื่นให้ดีขึ้นด้วย”
การประชุมฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าวในปีนี้จัดขึ้นด้วยหัวข้อหลัก “ร่วมสร้างอนาคตเอเชียท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก” เป็นเวลา 4 วัน และดึงดูดผู้เข้าร่วมเกือบ 2,000 คนจากกว่า 60 ประเทศและภูมิภาค
เคลาส์ เรตติก ประธาน Evonik Asia Pacific บริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลกจากเยอรมนี ที่เข้าร่วมงานในปีนี้ กล่าวว่า “เรามีความมั่นใจอย่างไม่สั่นคลอนในการเติบโตของจีน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในตลาดที่ขยายตัวเร็วที่สุดของ Evonik และจีนคือศูนย์กลางด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด” พร้อมเสริมว่า “จีนเป็นตลาดเคมีภัณฑ์อันดับหนึ่งของโลก โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและห่วงโซ่อุปทานที่บูรณาการลึกซึ้ง เราเห็นว่าเศรษฐกิจจีนเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตและยังคงมุ่งมั่นขยายการลงทุนที่นี่”