เส้นทางรถไฟภายใต้ BRI เชื่อมต่อมาเลเซีย
หัวรถจักรที่ศูนย์ควบคุมตามเส้นทางรถไฟ East Coast Rail Link ที่กำลังก่อสร้างในเมืองปาหัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวัน
ที่ 6 พฤษภาคม 2567 (ซินหัว)
ซูเรนดา มูน เกษตรกรชาวสวนผลไม้วัยกลางคนในเมืองกอมบัก รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย กำลังรอคอยการเปิดตัวโครงการ East Coast Rail Link หรือ ECRL ซึ่งเป็นโครงการเรือธงภายใต้ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) เขากล่าวว่า ทางรถไฟสายหนึ่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา และจะช่วยให้การขนส่งทุเรียนของเขาสะดวกขึ้น
การก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 665 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนและมาเลเซีย เริ่มต้นขึ้นในปี 2560 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในเดือนมกราคม 2571 โดยเครือข่ายทางรถไฟจะเชื่อมต่อรัฐกลันตัน ตรังกานู และปาหัง ทางชายฝั่งตะวันออกกับรัฐสลังงอร์และพอร์ตกลังบนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซีย
บริษัท ไชน่า คอมมิวนิเคชันส์ คอนสตรัคชัน จำกัด ผู้รับเหมาจีน เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ว่าส่วนแรกของเส้นทางรถไฟจะแล้วเสร็จตามแผนในเดือนธันวาคม 2569
ซูเรนดา ก็ยินดีกับโครงการนี้เช่นกัน เพราะช่วยสร้างงานให้คนท้องถิ่น ลูกชายคนโตของเขาเป็นหนึ่งในคนมาเลเซียประมาณ 10,000 คนที่ร่วมงานในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่ในช่วงพีค โครงการมีแรงงานจากหลายชาติรวมกว่า 23,000 คน ตามข้อมูลของบริษัทฯ ปัจจุบันงานก่อสร้างเหลือเพียง 20% จึงทำให้จำนวนแรงงานเริ่มลดลง
Deng Bo ผู้จัดการทั่วไปของโครงการจากบริษัท ไชน่า คอมมิวนิเคชัน คอนสตรัคชัน (ECRL) Sdn Bhd) ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนมีนาคม โครงการได้จ้างงานบริษัทท้องถิ่นประมาณ 2,000 แห่ง
Deng Bo คาดการณ์ว่าส่วนแรกของเส้นทางจากโกตาบารูในรัฐกลันตันถึงกมบักในรัฐเซอลาโงร์ จะเสร็จในเดือนธันวาคม 2569 และเปิดใช้งานในเดือนมกราคม 2570 โดยคาดว่าเส้นทางนี้จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากโกตาบารูถึงกัวลาลัมเปอร์จาก 8 ชั่วโมงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
Deng Bo ยังระบุว่า รถไฟสายใหม่จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าปริมาณมาก ซึ่งเป็นจุดแข็งทางเศรษฐกิจของระบบราง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม
ธนาคารรัฐบาลมาเลเซีย Malaysian Industrial Development Finance Berhad คำนวณว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัว 2.7% ในช่วงระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ ECRL จนถึงแล้วเสร็จ
โจเซฟ ลิม รองประธานหอการค้ามาเลเซีย-จีน กล่าวว่า ECRL จะช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจาก มาเลเซีย-นิคมอุตสาหกรรมจีน กวนตัน ไปยังท่าเรือกลัง ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญในช่องแคบมะละกา จากเดิม 3-5 วันทางเรือเหลือไม่ถึง 1 วัน
มาซลิม ฮูซิน ประธานฝ่ายพาณิชย์ของท่าเรือกวนตัน กล่าวว่า ECRL จะส่งเสริมการค้าระหว่างจีน-มาเลเซีย โดยท่าเรือกวนตันหลัก ๆ ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างรัฐปาหัง และนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย ฉินโจวในกว่างซีจ้วง ทั้งสองพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ “สองประเทศ นิคมอุตสาหกรรมคู่แฝด” (Two Countries, Twin Parks)
เขากล่าวว่า ECRL ไม่เพียงช่วยการขนส่งสินค้าออกของมาเลเซียทางบก แต่ยังเร่งกระจายสินค้านำเข้าจากฉินโจวในกว่างซีมาสู่ตลาดมาเลเซีย
ฮามิซี อิซาร์ เจ้าของร้านขายของในหมู่บ้านห่างไกลในรัฐเซลาโงร์ กล่าวว่า การก่อสร้างทำให้ธุรกิจดีขึ้น เขามั่นใจว่าหมู่บ้านจะมีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเมื่อรถไฟเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ
แอนโธนี่ โลเก ซิวฟุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย กล่าวในเดือนธันวาคมตามรายงานของ Bernama ว่า มาเลเซียหวังจะขยาย ECRL ขึ้นเหนือสู่ไทย เพื่อเชื่อมท่าเรือสำคัญของทั้งสองประเทศ